ร้านทุกอย่าง 20 บาท

ร้านทุกอย่าง  20  บาท

       ด้วยค่าครองชีพในปัจจุบันที่ถีบตัวสูงขึ้น  ผู้คนจึงหันมาปรับชีวิตความเป็นอยู่  และรู้จักประหยัดใช้สอยกันมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจร้านทุกอย่าง  20  บาทบูมอย่างเห็นได้ชัด  ตลาดนัดแทบทุกแห่งจะมีร้านทุกอย่าง  20  บาท  เปิดให้บริการอยู่เสมอ

      ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัว  ของใช้สอยต่างๆ  ภายในบ้าน เครื่องมือช่าง  ของเล่น  รวมถึงสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ  จึงทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อใช้สินค้ากันเป็นจำนวนมาก




การลงทุน
      เป็นการยากที่จะบอกว่าควรจะลงทุนเท่าไร  บางท่านเริ่มลงทุนจากหมื่นบาท  บางท่านเริ่มต้นจากหลักแสนขึ้นอยู่กับงบประมาณ และทำเลในการค้า

     สมมติบางคนเริ่มจากขายของที่ตลาดนัด  ลงทุนแค่หมื่นบาท  ก็ได้สินค้าเต็มแผงแล้ว

     แต่สำหรับบางคนที่เช่าพื้นที่ขาย  มีห้องกว้าง  5 x 14  เมตร  และต้องการใช้สินค้าลงเต็มร้านพอดี

     การลงทุนคร่าวๆ  ประมาณ  1  แสน  ซึ่งจะได้ของเต็มร้านประมาณ  6,000 กว่าชิ้น  และมีของให้เลือกกว่า  500  แบบ

วัสดุอุปกรณ์

      หน้าร้าน  หรือร้านขายของ

      สินค้าที่หลากหลาย

      อุปกรณ์ต่างๆ  ดังนี้
      1.  ที่แขวนสินค้าทั้งหมดประมาณ  12  ตัว  สูง  170  กว้าง  120  เซนติเมตร
              ราคาโดยประมาณ  ตัวละ  1,200-่1,500  บาท
      2.  ชั้นวางสินค้าแบบ  2  ด้าน
              ตรงกลางร้านแบบไว้วาง  3  ชั้น  ประมาณ  6  ตัว
              ราคาโดยประมาณ  ตัวละ  2,000  บาท  (อาจลดต้นทุนด้วยการหาซื้อของมือสองดู)
      3.  ชั้นวางทั่วไป  4-5  ตัว  และเคาน์เตอร์เก็บเงินที่แขวนพัดลม รวมถึงตกแต่งอย่างอื่นให้ดูดี  ราคาโดยประมาณ  30,000  บาท
      4.  ป้าย
              ราคาโดยประมาณ  ตารางเมตรละ  100 บาท  สมมติว่า  4  เมตรก็  400  บาท
      5.  ค่าเช่าร้าน
              ควรหาทำเลดีๆ  เพราะทำเลดี   มีชัยไปกว่าครึ่ง  ควรเลือกทำเลที่อยู่ในแหล่งชุมชน  ตลาดนัด  ห้างสรรพสินค้า    จุดต่อรถใหญ่ๆ  เพื่อจะได้มีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย  ไม่เฉพาะเจาะจง


ค่าภาษีป้าย
      สำหรับผู้ที่เปิดร้านขายของทุกอย่าง  20  บาท  และมีการทำป้ายหน้าร้านเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ  จะต้องมีการจ่ายภาษีป้ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งอัตราค่าภาษีป้ายมีรายละเอียดดังนี้

      -  ป้ายประเภทที่  1  หมายถึง  ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน  ให้คิดอัตรา  3  บาท  ต่อ  500  ตารางเซนติเมตร
      -  ป้ายประเภทที่  2  หมายถึง  ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศหรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น  ให้คิดอัตรา  20  บาท  ต่อ  500  ตารางเซนติเมตร
      -  ป้ายประเภทที่  3  หมายถึง  (n)  ป้ายที่ไม่มีอักษตรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ หรือ (ข)  ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมด อยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ  ให้คิดอัตรา  40  บาท ต่อ  500  ตารางเซนติเมตร

      เมื่อคำนวณพืืนที่ของป้ายแล้ว  ถ้ามีอัตราต่ำกว่าป้ายละ  200  บาท  ให้เสียภาษีป้าย 200 บาท


รายได้  รวย  รวย  รวย

      สมมติว่าเช่าคูหา  1  คูหา  ขนาดประมาณ  4x 8  เดือนละ  10,500  บาท
   
      เฉลี่ยวันละ  350  บาท  (350  x  30  (วัน) =  10,500)

      ฉะนั้นเราต้องขายสินค้าให้ได้ประมาณวันละ  500  ชิ้น

      เราจะขายได้วันละ  10,000  บาท  (500  (ชิ้น) x  20  (ราคาสินค้าต่อชิ้นที่ขาย)

      ซึ่งหักค่าใช้จ่ายค่าขนส่งและต้นทุนชิ้นของสินค้า  25%  จากยอดรวมที่ขายได้  10,000  บาทต่อวัน  ซึ่งจะได้กำไรประมาณวันละ  2,500  บาท  (10,000  -  25%)

       หรือเดือนละ  75,000  บาท  (2,500 x 30  (วัน)

       ซึ่งกำไรนี้พอที่จะคุ้มค่าเช่าร้าน  ค่าแรง  และค่าไฟ

       สำหรับใครที่งบน้อย  ประมาณ  20,000  บาท  ก็สามารถลงทุนเปิดกิจการนี้ได้  เพียงแต่ไม่ต้องลงทุนเช่าห้องหรือตั้งแผงให้ใหญ่อย่างกรณีแรก  เป็นร้านเล็กๆ  ที่เปิดตามตลาดนัดหรือตามบ้านได้

       เพียงเลือกซื้อสินค้ามาลงขายเองให้หลากหลายไว้ก่อน  ไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้ายกลัง  เพราะเรายังไม่รู้ว่าสินค้าชิ้นไหนขายดี

       อาจลองซื้ออย่างละ  1-2  โหล  เพื่อที่จัดเรียงสินค้าแล้วดูสวยงาม  เต็มพอดีกับชั้นวางสินค้า

       ต้นทุนสินค้าขาย  10  บาท  จะอยู่ระหว่าง  4-8  บาท  และต้นทุนสินค้าขาย  20  บาท  จะอยู่ระหว่าง  10-15  บาท

       แต่สำหรับสินค้าพลาสติกชิ้นใหญ่ราคาต่อชิ้นประมาณ  16-17.50  บาท   ซึ่งลูกค้าจะนำไปจำหน่ายในราคา  25  บาท  และหากลูกค้ามีกำลังซื้อยกลังได้ก็จะได้ราคาที่ต่ำลงอีก  ซึ่งหมายถึงกำไรที่มากขึ้นเช่นกัน

       ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าและจำนวนที่สั่งซื้อ  เนื่องจากต้นทุนสินค้าแต่ละตัวไม่เท่ากัน

       แต่ต้องคำนึงถึงเงินทุนหมุนเวียนในร้าน  พื้นที่่การเก็บสินค้า  และความเร็วในการเวียนของสินค้าด้วย  หากกำไรมากแต่กว่าจะขายหมดเป็นเวลาหลายเดือน  คงไม่คุ้มแน่นอน

       นอกจากนี้ก็มีระบบขายแบบแฟรนไซส์ที่ร้านเอ-โกะ  เปิด้ให้บริการ

       เงื่อนไขผู้เป็นสมาชิก  คือ  ต้องสั่งซื้อสินค้าครั้งแรก  เป็นจำนวนเงิน  20,000  บาทขึ้นไป  ซึ่งจะได้ราคาพิเศษในการขายชิ้นละ  13  บาท  พร้อมอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย

       พวกป้ายร้าน  ชุดฟอร์ม  และมีสินค้าประมาณ  1,538  ชิ้น  คละสี  แบบ  และลวดลาย  จะได้ประมาณ  350  กว่าแบบ  ก็สามารถเปิดร้านเล็กๆ  ขายได้เลย

       และทุกครั้งที่สั่งออเดอร์ยอดเกิน  10,000  บาทขึ้นไป จะจัดส่งฟรีทั่วประเทศ  จะจัดส่งของให้ใน  1-2 วัน หลังจากโอนเงินและหากสินค้าตัวไหนขายไม่ดี  สามารถเปลี่ยนคืนได้ภายใน  30  วัน


แรงงาน

       ข้อดีของธุรกิจนี้  คือ  ไม่ต้องมีพนักงานดูแลร้านจำนวนมาก  เริ่มต้นอาจมีเพียง  1-2  คน  สำหรับคิดเงิน  และจัดเรียงสินค้า  และหากคุณมีเวลาก็สามารถดูแลร้านเองได้  ซึ่งไม่ต้องมีต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มเติมในส่วนนี้


วิธีการดำเนินธุรกิจ

        แหล่งของ  20  บาทมีเยอะมาก  สามารถหาได้ในกูเกิล  ซึ่งแต่ละเจ้าของจะคล้ายๆ  กัน  แต่สำหรับมือใหม่อยากลองตลาด  อาจลองซื้อแบบไม่ยกโหลก็ได้  เพราะมากกว่า  20%  ของจะค้างสต็อก

        ถ้าคุณซื้อ  100,000  บาทแบบยกโหล  คุณก็จะได้สินค้าประมาณ  500  กว่าแบบ  แต่ถ้าคุณซื้อแบบครึ่งโหล  คุณจะได้ 1,000  กว่าแบบ  ร้านก็จะน่าสนใจขึ้นเยอะ  อีกอย่างคือ  เรายังไม่สามารถจับกลุ่มลูกค้าเริ่มต้นได้  จึงต้องอาศัยทดลองตลาดไปในตัว

        นอกจากนี้สินค้าที่เป็นกลุ่มกิ๊ฟช็อปหรือสินค้าที่ต้องขายความสวยงาม  เช่น  สมุดลายการ์ตูน  สติกเกอร์  กรอบรูป  รูป 3 มิติ  กล่องใส่ของลายต่างๆ  ของพวกนี้เวลาสั่งยกโหล  เราไม่สามารถเลือกลายได้

        เวลาไปซื้อเขาก็จะห่อร่วมๆ  กันไว้  ที่สวยๆ  มีประมาณ  4-5  ชิ้น   นอกนั้นลายอาจไม่สวยไม่เป็นที่น่าสนใจ  และขายไม่ออก  ทำให้เกิดปัญหาสินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก กลุ่มสินค้าที่เป็นเคมี  พวกกาว  น้ำยาต่างๆ  ต้องระวังมากๆ  เพราะบางทีซื้อมาแห้งหมดแล้วใช้งานไม่ได้

        ต้นทุนอีกอย่างก็คือค่าขนส่งกับสินค้าที่เสียหาย  ยิ่งร้านอยู่ต่างจังหวัดต้องสั่งของจากกรุงเทพฯ  แล้วล่ะก็ หมดไปกับค่าขนส่งพอสมควร  แต่ถ้าขับรถไปซื้อเองได้แม้ว่าจะแพงหน่อยแต่ถ้าได้เลือกสินค้าเองก็คุ้มกว่า  เพราะได้ดูสินค้า  เลือกจากของจริงๆ  จะทำให้เห็นเนื้องานและคุณภาพว่าเหมาะกับการขายหรือไม่


ทำเลในการประกอบธุรกิจ

       ควรตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน  สถาบันการศึกษา  ตลาด  จุดต่อรถโดยสาร  ปััมน้ำมัน  และที่อื่นๆ  ที่มีผู้คนพลุกพล่นพอสมควร


ข้อแนะนำในการทำธุรกิจทุกอย่าง  20

       การจัดสินค้าภายในร้าน  ต้องหมั่นหาสินค้าใหม่อยู่เสมอ  เพราะเสน่ห์ของสินค้าทุกอย่าง  20  บาท  คือความหลากหลาย ต้องหมั่นบริหารและจัดการสินค้าภายในร้านให้ดีๆ  ด้วยวิธีโปรโมท  หรือทำโปรโมชั่น  เพื่อสินค้าจะได้หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

       ต้องหมั่นสังเกตกลุ่มลูกค้าว่าเป็นกลุ่มใด  เช่น  ใกล้ตลาด  ก็ควรเน้นสินค้าสำหรับแม่บ้าน  เครื่องครัว  อุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ  เป็นหลัก  ทำเลใกล้โรงเรียน  ควรเน้นสินค้าเครื่องเขียน  ของเล่น  เป็นต้น

       ทำเลที่ดีหากเปิดใกล้ตาม  7-11  จะดีมาก  เพราะคนพลุกพล่านไปมาเรื่อยๆ  หรือในห้างสรรพสินค้า  บิ๊กซี โลตัสอาจจะขายปลีกที่ราคา  25  บาท  เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าสูงกว่า

        การจัดวางสินค้า  ควรวางให้โดดเด่น  เพิ่มสีสันให้ชั้นวางจะช่วยให้สินค้าน่าซื้อมากขึ้น


สถานที่ติดต่อในการทำธุรกิจ

        หากคุณจะซื้อสินค้าแบบเลือกเองก็ต้องเป็นที่ตลาดสำเพ็ง  ช่วงเวลาในการซื้อของตลาดสำเพ็งที่ดี คือ ช่วงใกล้วสว่างประมาณตี  3-4  เป็นต้นไป  แต่สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกกิ๊ปช๊อปเสียมากกว่า  หรือจะมาที่ตลาดไทก็มีสินค้าขายส่ง  20  บาท  ให้เลือกไปทดลองจำหน่ายได้เหมือนกัน

        แต่หากเป็นรูปแบบแฟรนไซส์สามารถติดต่อได้ที่

        บริษัท  เอกดำรงค์  มาร์เก็ตติ้ง
        โทรศัพท์  02-433-6758
         www.japankitchenproduct.com

         หรือแฟรนไซส์ธุรกิจ  OK  20  ติดต่อ  คุณนพพล  บุญโชคยิ่ง (เบนซ์)
         โทรศัพท์  084-897-5555
          www.ok20-shop.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น