ช่างเชื่อมและช่างตัดโลหะ

ช่างเชื่อมและช่างตัดโลหะ
Welders and Flame cutters



ลักษณะงานที่ทำ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ทำหน้าที่ติดตั้ง ซ่อมบำรุง ผลิตงาน ผลิตภัณฑ์โหละแผ่นและโลหะรูปพรรณ งานโครงสร้างโลหะ งานระบบท่ออุตสาหกรรม ทำงานด้วยการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ในการแปรรูป ขึ้นรูป ประกอบด้วย กรรมวิธีเชื่อม การตกแต่งผิวสำเร็จ การตรวจสอบ และการควบคุมการผลิต

งานระดับช่างฝีมือ
ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอ่านแบบ เขียนแบบเครื่องกลแบบแผ่นคลี่  การผลิตงาน  ผลิตภัณฑ์โลหะแผ่น  และโลหะรูปพรรณโดยการใช้เครื่องมือ  เครื่องจักรในการแปรรูปขึ้นรูปโลหะ  การประกอบตกแต่งผิวสำเร็จ  งานติดตั้งประกอบและเชื่อมระบบท่อ  งานติดตั้งประกอบและเชื่อมโครงสร้าง

งานระดับช่างเทคนิค
ปฏิบัติงานในลักษณะผู้ควบคุมงาน  ผู้ช่วยวิศวกร  โดยทำงานภายใต้การแนะนำและควบคุมของวิศวกร  เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบติดตั้ง งงานผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ  งานระบบท่อ  งานโครงสร้าง  งานเชื่อมซ่อมบำรุงชิ้นส่วนเครื่องจักรกล  เครื่องมือกล  งานตรวจสอบทดสอบวัสดุในทางวิศวกรรม  งานตรวจสอบทดสอบงานเชื่อมทั้งแบบทำลายและไม่ทำลาย


ช่างเชื่อมโลหะ  จำแนกประเภทและลักษณะของงานที่ทำตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ  ดังนี้

ช่างเชื่อมด้วยก๊าซ (Welder, gas)
1. เชื่อมชิ้นส่วนของโลหะด้วยเปลวไฟจากก๊าซออกซิอะเซทิลีน หรือก๊าซชนิดอื่นๆ
2. วางชิ้นส่วนโลหะและหนีบรัดให้อยู่กับที่  ต่อหัวท่อเชื่อมเข้ากับภาชนะใส่ก๊าซแล้วปิดวาล์วจุดไฟที่หัวท่อเชื่อมแล้วปรับเปลวไฟ  โดยกำหนดการปล่อยก๊าซให้สม่ำเสมอ
3. ทำให้ชิ้นส่วนโลหะร้อนจนกระทั่งโลหะเริ่มละลาย แล้วใช้โลหะหลอมเหลวจากแท่นเชื่อมหลอมเชื่อมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน
4. ใช้วัตถุผสมผสานเท่าที่จำเป็น
5. ทำความสะอาดแล้วทำชิ้นส่วนที่เชื่อมแล้วให้เรียบ
6. อาจทำเครื่องหมายบนชิ้นส่วนก่อนการเชื่อม และเชื่อมตามรูปแบบ หรือตามรายละเอียดอื่นๆ

ช่างเชื่อมด้วยไฟฟ้า (มือ) (Welder  electrical, hand)
1. เชื่อมชิ้นส่วนโลหะด้วยอุปกรณ์เชื่อมที่ใช้มือ ซึ่งอุปกรณ์เชื่อมจะได้รับความร้อนจากกระแสไฟฟ้า
2. เลือกโลหะเชื่อมและสอดเข้ากับเครื่องยึด ต่อสายไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือหม้อแปลงเข้ากับโลหะเชื่อมและชิ้นส่วนที่ต้องการเชื่อม กดสวิตซ์เครื่องส่งกระแสไฟฟ้าเอาโลหะเชื่อมจึ้ตรงชิ้นส่วนที่ต้องการเชื่อมแล้วยกขึ้นให้มีระยะห่างจากชิ้นส่วนเพียงเล็กน้อย เพื่อทำหใ้เกิดประกายไฟ
3. นำโลหะเชื่อมลากลงมาตามแนวที่จะเชื่อม เพื่อหลอมเชื่อมชิ้นส่วนให้ติดกัน และควบคุมกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามความต้องการ
4. ทำความสะอาดชิ้นส่วนที่เชื่อมแล้ว และทำรอยเชื่อมให้เรียบ
5. อาจทำเครื่องหมายบนชิ้นส่วนก่อนการเชื่อม และเชื่อมตามรูปแบบหรือตามรายละเอียดอื่นๆ

ช่างเชื่อมด้วยก๊าซและไฟฟ้าทั่วไป (Welder, gas and electric general)
1. เชื่อมชิ้นส่วนของโลหะด้วยเปลวไฟของก๊าซออกซิอะเซทีลีน หรือเปลวไฟของก๊าซชนิดอื่นๆ
2. เชื่อมด้วยประกายไฟฟ้า
3. ปฏิบัติงานเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับช่างเชื่อมโหละด้วยก๊าซ และช่างเชื่อมด้วยไฟฟ้า อาจตัดโลหะด้วยก๊าซออกซิอะเซทีลีนหรือด้วยเปลวไฟจากก๊าซชนิดอื่น


สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ทำงานทั้งในและนอกสถานที่ทำงานในการประกอบและติดต่ออุปกรณ์ที่ต้องจ่อเชื่อมหรือประสานท่อ ทำการตรวจซ่อมและบริการ การดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องจักรในงานอุตสาหกรรม  สภาพการทำงานหนักปานกลาง  ต้องใช้ความอดทนต่อสภาพความร้อน  เสียง  กลิ่นของสารเคมี  ทำความสะอาดอุปกรณ์ และบางโอกาสทำงานตามลำพัง ต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบสูงพอสมควร เพิ่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการทำงานโดยเฉพาะ "ตา" จึงจำเป็นต้องสวมแว่นตาในระหว่างการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันประกายไฟ หรือเศษโลหะเข้า บางครั้งต้องทำงานเกินเวลา อาจต้องทำงาน วันเสาร์  วันอาทิตย์  และวันหยุด  เพื่อให้งานเสร็จทันเวลาที่กำหนด

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3  ผ่านการอบรมกลุ่มงานอาชีพช่างเชื่อมและโลหะแผ่น จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีความรู้ความสามารถอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3  หรือสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างเชื่อม  หรือสาขาวิชาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น
1. มีร่างกายแข็งแรง  อดทน  ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคในงานอาชีพ
2. มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบ
3. มีความละเอียด  ประณีต
4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
5. มีความเชื่อมั่น  สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังนี้  คือ :
สำหรับระดับช่างฝีมือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ จากสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือสาขาช่างท่อและประสาน สาขาวิชาช่างโลหะ หรือสาขาวิชาช่างเชื่อม และโลหะแผ่นจากสถานศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6  หรือเทียบเท่า อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เข้ารับการอบรมหลักสูตรในกลุ่มอาชีพช่างเชื่อมและโลหะ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งจัดให้มีหลักสูตร ดังนี้

ช่างเชื่อมไฟฟ้า  ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระยะเวลา  4 เดือน และฝึกในสถานประกอบการ  ระยะเวลา  2  เดือน  สำเร็จการอบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างเชื่อมแก๊ส   ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน  หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด  ระยะเวลา  4  เดือน  และฝึกในสถานประกอบกิจการ  ระยะเวลา  2 เดือน  สำเร็จการอบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างผลิตภัณฑ์โลหะแผ่น  ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน  หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด  ระยะเวลา  6  เดือน  และฝึกในสถานประกอบการระยะเวลา  2  เดือน สำเร็จการอบรมจะมีระดับฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฝีมือช่างชั้น 3

ช่างเชื่อม  TIG  ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน  หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด  ระยะเวลา  3  เดือน  และฝึกในสถานประกอบกิจการ  ระยะเวลา  1 เดือน  สำเร็จการอบรมมีความสามารถในการใช้เครื่องมือในการเชื่อมวัสดุชนิดต่างๆ เช่น  เหล็ก  อลูมิเนียม  และสแตนเลสได้

ช่างเชื่อม  MIG/MAG  ฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระยะเวลา 3  เดือน  และฝึกในสถานประกอบการ ระยะเวลา  1 เดือน  สำเร็จการอบรมมีความสามารถในการใช้เครื่องมือในการเชื่อมวัสดุชนิดต่างๆ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และสแตนเลสได้

สำหรับระดับช่างเทคนิค  เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม  สาขาวิชาช่างเทคนิคโลหะ  สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะแผ่นจากสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  หรือสาขาวิชาช่างท่อและประสาน  สาขาวิชาช่างโลหะ  จากสถานศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

โอกาสในการมีงานทำ
แนวโน้มของผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมก่อสร้างรถยนต์เฟอร์นิเจอร์  ซึ่งในปัจจุบันการก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟู  ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น  ภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมการผลิต  หรือประกอบรถยนต์ในประเทศมากขึ้น  จากแนวโน้มยอดการขายรถยนต์ในช่วง  2 ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตรายอดการขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20  ดังนั้นในฐานะลูกจ้างของอุตสาหกรรมเหล่านี้  โอกาสการมีงานทำ  จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ จะต้องมีความรู้ความสามารถเรื่องเครื่องกล หรือเครื่องยนต์ด้วย  หรือทำงานในอุตสาหกรรมเครื่องเย็น  สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้น  ต้องพัฒนาฝีมือและความชำนาญจนเป็นที่เชื่อถือของลูกค้า และอาจหันมาประกอบอาชีพ  รับทำเหล็กดัดสำหรับชั้นประตู  หน้าต่าง  ตลอดจนงานเฟอร์นิเจอร์  หรืองานศิลปกรรม  และควรประดิษฐ์คิดค้นสินค้าต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์



โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพนี้ถ้ามีความสามารถในการทำงาน และมีประสบการณ์จะได้รับการเลื่อนขั้น  เลื่อนตำแหน่งในสายงานที่ทำงานอยู่จนถึงระดับหัวหน้างาน  สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อเืพ่อเลื่อนวิทยฐานะ  และความก้าวหน้าในอาชีพ  สามารถศึกษาต่อได้  โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  แล้วถ้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  หลักสูตร  2  ปี   ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม  สาขาวิชาช่างเทคนิคโลหะ  สาขาวิชาช่างท่อและประสาน  หรือสาขาวิชาช่างโลหะในสถานศึกษา  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  หรือสาขาวิชาช่างท่อและประสานในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตร  4  ปี  สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอ  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

นอกจากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  (ปวส.)  แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่องอีก  2  ปี  หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.)  สาขาวิชาเทคนิคการผลิตเชื่อมและประสาน  คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  อีกทั้งสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่องอีก  3 ปี  -  3  ปีครึ่ง   ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการการผลิต  สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรมการจัดการ  ในคณะวิศวกรรมศาสตร์  หรือสถานศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง อีก  2  ปีครึ่ง  - 3  ปี  ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการการเชื่อมประกอบ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  ในสถานศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตร  ต่อเนื่องอีก  2 - 3  ปี  ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการเชื่อม  ในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
         ช่างโลหะ   ช่างเครื่องกล


แหล่งข้อมูลอื่นๆ
        -  กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  กระทรวงแรงงาน    www.dsd.go.th
        -  มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  www.kmutnb.ac.th
        -  การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ  (ประเทศไทย)
           กรมการจัดหางาน  www.doe.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น