มัคคุเทศก์ Guide

มัคคุเทศก์ Guide


ลักษณะของงานที่ทำ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ จะต้องศึกษา ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นำเที่ยว รวมทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม วางแผนกำหนดเส้นทาง จัดกำหนดการนำเที่ยวให้เหมาะสมกับฤดูกาลและระยะเวลาติดต่อ สถานที่พักแรม หรือเตรียมอุปกรณ์เพื่อการพักแรมในสถานที่ที่จะนำเที่ยว นำนักท่องเที่ยวชมสถานที่ และบรรยายให้นักท่องเที่ยวได้ทราบความเป็นมาของสถานที่และท้องถิ่น แหล่งะรรมชาติที่น่าชมและน่าสนใจ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเป็นอยู่ของประชาชน จัดการพักแรมและดูแลให้ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยวในระหว่างการนำเที่ยวโดยพยายามจัดการให้บริการที่ต้องสร้างความพอใจและประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนอย่างทั่วถึง และต้องมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

อาชีพมัคคุเทศก์ จัดแบ่งออกเป็นกลุ่มตามกลุ่มของนักท่องเที่ยว คือ มัคคุเทศก์พาเที่ยวภายในประเทศ (Domestic) มัคคุเทศก์ท้องถิ่น และมัคคุเทศก์นำเที่ยวชาวต่างประเทศ (Inbound) นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มมัคคุเทศก์ตามลักษณะของการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์เดินป่า มัคคุเทศก์ทางทะเล มัคคุเทศก์ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

สภาพการทำงาน

มัคคุเทศก์ จะทำงานตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการนำเที่ยว มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 วัน ถึง 3 หรือ 4 สัปดาห์ และในขณะพานักท่องเที่ยวทัศนาจรจะต้องดูแลนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง นำนักทัศนาจรหรือนักท่องเที่ยว ตั้งแต่คนเดียวจนถึงเป็นกลุ่มหรือกลุ่มใหญ่ไปชมสถานที่ต่างๆ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในแผนการนำท่องเที่ยว การเดินทางอาจจะมีทั้งระยะใกล้ ไกล อาจใช้ยานพาหนะทุกประเภท อาจต้องนำเที่ยวในลักษณะผจญภัย ตัวอย่างเช่น ทัวร์ป่า การเดินขึ้นเขา การล่องแพ การค้างแรมร่วมกับกลุ่มชนชาวพื้นเมือง ขึ้นอยู่กับแผนการนำเที่ยว และรูปแบบของการท่องเที่ยว

ม้คคุเทศก์จะต้องวางแผนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริการ การอำนวยความสะดวกและการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่จำเป็นและให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวในการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของการท่องเที่ยว ตลอดจนตอบข้อซักถามให้คำแนะนำในระหว่างการเดินทาง รวมทั้งต้องทำกิจกรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทางทุกคนได้รับความสนุกสนาน ประทับใจในบางครั้งอาจจะต้องจัดกิจกรรมหรือให้บริการที่สร้างความพอใจให้กับนักท่องเที่ยวตามจุดประสงค์ที่นักท่องเที่ยวต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด และพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง บางครั้งมัคคุเทศก์จะต้องทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นสูง ดังนั้น ความพร้อมและความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงมีความสำคัญมาก เพราะนักท่องเที่ยวมีอัธยาศัยและพื้นฐานความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เมื่อมารวมกลุ่มกันจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี อีกทั้งได้รับความสุขความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย มัคคุเทศก์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของท้องถิ่น และประเทศนั้นๆ


คุณสมบัติของผุ้ประกอบอาชีพ

1. พูดภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อย คือ ภาษาอังกฤษ

2. มีความรู้ทั่วไป และเป็นผู้ที่ขวนขวายหาความรู้สม่ำเสมอ

3. รักการเดินทางท่องเที่ยวและงานบริการ ปรับตัวได้ และเป็นนักแก้ไขปัญหาได้ดีในทุกสถานการณ์

4. มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม และมีลักษณะอบอุ่น โอบอ้อมอารี เป็นที่ไว้วางใจของผู้เดินทางร่วมไปด้วย

5. มีความเป็นผู้นำ มีความกล้า มีความรอบคอบ และไม่ประมาท

6. มีทัศนคติที่ดี ร่าเริง มีความเสียสละ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง และอดทน

7. สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีไหวพริบและปฏิภาณดี

8. มีความคิดสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

9. เป็นนักสื่อสารที่ดี รักการอธิบาย และการบรรยายความรู้ต่างๆ

10. เป็นนักจัดเก็บข้อมูลที่ดี ทั้งข้อมูลการท่องเที่ยว ความนิยมของลูกค้า และรายชื่อลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว


ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังนี้ :

มัคคุเทศก์ท้องถิ่น
เป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป หรือเทียบเท่าและได้รับการอบรมเพิ่มเติม เพื่อรับวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน (วพร.) เป็นเวลา 420 ชั่วโมง หรือ 3 เดือน

มัคคุเทศก์ภายในประเทศ 
และมัคคุเทศก์นำเที่ยวชาวต่างประเทศ
เป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป ต้องเข้ารับการอบรมและมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากสถาบันที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การรับรองหรือมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะ หรือสาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว



โอการในการมีงานทำ
ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ทำเงินรายได้ให้ประเทศมากที่สุดและในปี 2554 นำเงินเข้าประเทศได้ประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยได้เปิดตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย และการท่องเที่ยวของประเทศไทยในต่างประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ส่วนในประเทศได้เน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และศักยภาพในทุกด้านของทุกจังหวัด เพื่อส่งเสริมและรองรับคนไทยให้เที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเน้นทั้งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน วัฒนธรรมประเพณี ของทุกจังหวัด และทัวร์สิ่งแวดล้อมหรืออีโคทัวริสซึ่ม

แนวโน้มของคนในยุคปัจจุบันเมื่ออยู่ในสังคมใหม่จะแสวงหาวันหยุดที่ใกล้ชิดธรรมชาติและความเงียบสงบ นักท่องเที่ยวต่างประเทศปัจจุบันมักจะเลือกเที่ยวในประเทศที่มีการจัดการและรักษาสิ่งแวดล้อม และสภาพทางนิเวศวิทยาที่ดีเท่านั้น อาจจะจัดเป็นทัวร์สุขภาพ ธรรมชาติบำบัด หรือรูปแบบการอบรมสัมมนาเนื้อหาทางพุทธศาสนาและทำสมาธิ การได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะจัดเป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ ดังนั้น บุคคลผู้สนใจประกอบอาชีพนี้สามารถเปิดการให้บริการ โดยสามารถจัดเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่มของตนเองขึ้นบนเว็บไซต์ออนไลน์ เสนอให้ผู้สนใจทั่วโลกเลือกพิจารณารูปแบบการท่องเที่ยวได้

อนึ่ง องค์การท่องเที่ยวโลกได้มีการสนับสนุนและกำหนดให้วันที่ 27 กันยายนของทุกปี เป็นวันท่องเที่ยวโลก โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อวัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศและโลกโดยรวม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ เพราะเล็งเห็นถึงความมีศักยภาพในการเป็นประตูไปสู่การท่องเที่ยวอินโดจีนหรือภูมิภาคเข้าสู่จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งนับว่าอาชีพมัคคุเทศก์เป้นอาชีพสำคัญส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ได้มาตรฐาน และเป็นผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวสนใจที่จะเลือกบริโภคในประเทศที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น โอกาสการมีงานทำเป็นมัคคุเทศก์จึงค่อนข้างมีมากและมีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรอบรู้ ความสามารถ และจรรยาบรรณในวิชาชีพของมัคคุเทศก์

แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าขาดมัคคุเทศก์ที่มีคุณภาพก็ไม่สามารถทำให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลได้ จึงได้มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพนี้ โดยในปี 2543 เป็นครั้งแรกที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีโครงการมอบรางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่น ในงานไทยแลนด์ทัวริสซึ่ม อวอร์ด 2000 อันถือว่า เป็นงานยอดเยี่ยมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตลอดจนจัดการบริการให้มีมาตรฐาน และในปี 2553 เป็นครั้งที่ 6 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดโครงการมอบรางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่น พร้อมกับโครงการมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ในปี 2558 ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการเปิดเสรีบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น



โอการความก้าวหน้าในอาชีพ
ความก้าวหน้าในอาชีพนี้ไม่ได้วัดกันที่ตำแหน่ง แต่สามารถวัดได้จากความสามารถทางด้านภาษา ความอดทน ความเป็นมืออาชีพ ดังนั้นผุ้ที่สนใจต้องการประกอบอาชีพนี้ สามารถติดต่อได้ที่บริษัทจัดท่องเที่ยว เมื่อมีประสบการณ์และสร้างเครือข่่ายข้อมูลทางด้านการท่องเที่ยวได้มาก และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็สามารถเปิดบริษัทเองได้ ถ้าอยู่ในต่างจังหวัดสามารถเปิดสำนักงานของตนเองได้ แต่จะต้องสำรวจพื้นที่ที่ตนอยู่และจังหวัดใกล้เคียงว่า มีแหล่งทรัพยากรการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และจัดเป็นรูปแบบการเดินทางได้หรือไม่ จากนั้นก็จัดทำโฮมเพจเสนอบริการขึ้นเว็บไซด์ตรงสู่ผู้สนใจ โดยปรึกษากับบริษัทที่ปรึกษาการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ โดยใช้บ้านเป็นสำนักงาน

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
จัดกลุ่มท่องเที่ยวแบบอิสระที่ตนมีความรู้ ความชำนาญทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ทัวร์ศิลปะวัฒนธรรม ทัวร์เกษตรกรรม เป็นต้น

เปิดสถานที่ให้คำแนะนำการท่องเที่ยว จำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ให้บริการยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยานเสือภูเขา หรือเช่า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำเป็นให้กับนักเดินทางและนักท่องเที่ยว เป็นต้น จัดหาหรือจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกที่น่าสนใจ หรือหายากในประเทศ จัดศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวท้องถิ่น จัดที่พัก ที่เดินทางในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จัดพิมพ์หนังสือคู่มือการท่องเที่ยวและพิมพ์ภาพโปสการ์ดแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวสนใจ

แหล่งข้อมูลอื่นๆ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย http://thai.tourismthailand.org/home และการท่องเที่ยวประจำจังหวัด
- สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (สมอทฬ๗ www.pgathaiguide.com
- สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ www.dsd.go.th
- เว็บไซต์ เกี่ยวกับโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก
- การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)
  กรมการจัดหางาน www.doe.go.th

#มัคคุเทศก์ Guide

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น